จิสด้าตั้งสถานีเรดาร์ชายฝั่งอันดามันนำร่องที่กระบี่
ไอที
พันตำรวจโท หม่อมหลวงกิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่มีการเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี นักท่องเที่ยวอยากเห็นความงดงามของธรรมชาติ ความเป็นสากลของการท่องเที่ยว และมีมาตรฐานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย จึงนับว่าเป็นประโยชน์มากที่จิสด้าเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับชาวกระบี่ และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยและการรักษาทรัพยากรชายฝั่งขึ้นไปอีก ดังนั้น เรดาร์ชายฝั่งและอุปกรณ์การเตือนภัยต่างๆ จึงเป็นข้อมูลวิเคราะห์สถานการณ์ที่สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า ปัจจุบันจิสด้าได้ติดตั้งสถานีเรดาร์ชายฝั่งรอบอ่าวไทยมาแล้วกว่า 22 สถานี และล่าสุดมาลงที่ฝั่งอันดามัน โดยนำร่องที่ จ.กระบี่ เป็นที่แรก ถึง 2 สถานี คือที่อ่าวนาง และเกาะลันตา ซึ่งครอบคลุมอ่าวกระบี่ อ่าวพังงา และบางส่วนของจังหวัดภูเก็ต ประกอบกับศักยภาพของพื้นที่ เมื่อผนวกกับทรัพยากรทางทะเลและกิจกรรมทางทะเลที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ทำให้มีศักยภาพต่อการพัฒนาในทุกๆด้าน นอกจากนี้ พื้นที่ จ.กระบี่ และชายฝั่งอันดามันโดยรอบยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกทุกปี ไม่ว่าจะเป็นภาวะเรือนกระจกที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น คลื่นลมแรง การกัดเซาะชายฝั่ง การปล่อยน้ำเสีย การเกิดมลพิษทางทะเลหรือจะเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ เป็นต้น และในอนาคตจิสด้าจะติดตั้งระบบดังกล่าวบริเวณชายฝั่งอันดามันให้ครอบคลุมมากขึ้น
“ข้อมูลที่ได้จากสถานีเรดาร์ เราเรียกว่า ข้อมูลการตรวจวัดจากเรดาร์ อาทิ ข้อมูลตรวจวัดสภาพลม ตรวจวัดความเร็วทิศทางของกระแสน้ำ ความสูงและทิศทางของคลื่นทางทะเล โดยข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดเรดาร์เหล่านี้ จะถูกส่งกลับไปยังสถานีรับข้อมูลของจิสด้า ณ หน่วยปฏิบัติงานที่บางเขน และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อทำการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล ก่อนส่งให้กับผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องต่อไป”
ผอ.จิสด้า กล่าวอีกว่า ชุมชนจะได้รับประโยชน์จากข้อมูลเรดาร์ชายฝั่งแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มประมงพื้นบ้านจะใช้ดูทิศทางของลมและกระแสน้ำ รวมถึงความสูงของคลื่นในทะเล เพื่อดูความเหมาะสมของการออกเรือเพื่อจับปลาหรือสัตว์น้ำได้ไหม เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สำหรับด้านการบริหารจัดการทะเล เช่น ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอย่างเหตุการณ์คราบน้ำมัน ขยะทะเล หรือแม้แต่เรือล่ม เป็นต้น ก็จะได้วางแผนดูที่มาที่ไปของเหตุการณ์ การวิเคราะห์สถานการณ์ ระดับความรุนแรง หรือแม้แต่การเก็บกู้หรือการสลายได้ทันเวลา รวมถึงการคาดการณ์และประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากพายุ เช่น Storm surge ได้อีกด้วย