CMMU เผยเทรนด์ตลาดออนไลน์ 'อินฟลูเอนเซอร์'มาแรง
ไอที
ทั้งนี้จากข้อมูลงานวิจัยการตลาดกับกลุ่มผู้บริโภค จำนวน 1,031 คน พบว่า ประชาชนจำนวนร้อยละ 92.8 สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย ผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มผู้ที่ออนไลน์เป็นประจำทั้งวัน จำนวนร้อยละ 48.5 กลุ่มผู้ที่ออนไลน์ช่วงหัวค่ำ และก่อนนอน เนื่องจากไม่สามารถใช้อุปกรณ์สื่อสารได้ระหว่างทำงาน จำนวนร้อยละ 35.9 และผู้ที่ใช้เวลาช่วงเช้า และระหว่างเดินทางไปทำงาน จำนวนร้อยละ 8.4 จากข้อมูลพฤติกรรมประชาชนที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจ โดยเน้นให้น้ำหนักกับการตลาดออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตลาดออนไลน์ด้วยผู้มีอิทธิพลบนโลกโซเชียล หรือ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Marketing)
ดร.บุญยิ่ง กล่าวว่า เทรนด์การตลาดออนไลน์ดังกล่าว เริ่มแพร่หลายตั้งแต่ช่วงปี 2558 โดยเริ่มจากการใช้ ดารานักแสดง คนดังที่เป็นที่รู้จัก และพรีเซ็นเตอร์ และมีพัฒนาการของกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์เพิ่มขึ้น ทั้งบล็อกเกอร์ และยูทูปเบอร์ เน็ตไอดอล ที่เน้นการให้ข้อมูลในรูปแบบประสบการณ์ หรือการรีวิว ที่เข้าถึงง่าย และผู้บริโภคให้ความเชื่อมั่นสูง และคาดว่า กลุ่มไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro Influencer) ที่มียอดผู้ติดตามระหว่าง 10,000 – 100,000 คน จะมีแนวโน้มทรงอิทธิพล และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ในปี 2562 เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มักมีลักษณะพิเศษคือ มีความถนัดเฉพาะด้าน มีชื่อเสียงเฉพาะกลุ่ม และเป็นตัวของตัวเอง ทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และมักจะได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคที่มากกว่า
“การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ขึ้นท็อปเทรนด์การตลาดน่าจับตา เนื่องจากไม่เพียงสร้างการรับรู้ และเข้าถึงผู้บริโภคผ่านการรีวิวแล้ว กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และโน้มน้าวสู่การตัดสินใจซื้อในท้ายที่สุด โดย 5 วงการอินฟลูเอนเซอร์ที่ประชาชนมักพบเห็นการรีวิวมากที่สุดบนโลกโซเชียล ได้แก่ วงการท่องเที่ยว วงการอาหาร วงการแฟชั่นและความสวยความงาม วงการสุขภาพ และวงการการเงินและการลงทุน ตามลำดับ โดยจากงานวิจัย พบว่า กว่าร้อยละ 75 ของผู้บริโภค เคยซื้อสินค้าหลังจากเห็นการรีวิวจากอินฟลูเอ็นเซอร์ โดยกลุ่มประเภทสินค้ามักซื้อตาม ได้แก่ เครื่องสำอาง อาหารเครื่องดื่ม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และสินค้าแ ฟชั่น เนื่องจากอิทธิพลของภาพ และวิดีโอรีวิว สามารถโน้มน้าวความรู้สึกร่วม มาสู่พฤติกรรมการบริโภคได้กว่าการโฆษณา”
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจที่มีสินค้า และบริการ ที่มีความซับซ้อน เข้าใจได้ยาก และต้องการความน่าเชื่อถือสูงอย่าง กลุ่มธุรกิจการเงินการลงทุน กลุ่มสุขภาพ และกลุ่มไอที มีแนวโน้มจะหันมาใช้การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสามารถให้ข้อมูลเชิงลึก ด้วยการสื่อสารที่เข้าใจได้ง่ายกว่า สื่อการตลาดรูปแบบเดิมๆ ทั้งยังประหยัดงบประมาณการลงทุนจำนวนมาก
ขณะที่การทำการตลาดรีวิวผ่านอินฟลูเอนเซอร์ กำลังเป็นที่นิยม การเลือกใช้สื่อที่เหมาะสม และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นกุญแจสำคัญของการตลาดออนไลน์ ผู้ประกอบการ นักการตลาด ควรต้องเข้าใจพื้นฐานของผู้บริโภค เพื่อการตัดสินใจการทำกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสม
อย่างไรก็ดีคณะผู้วิจัยได้แนะนำกลยุทธ์การทำการตลาดออนไลน์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อสร้างความน่าสนใจ มีเอกลักษณ์ และสร้างความแตกต่างของธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์ “ซี้ด” (SEED Strategy) ซึ่งประกอบด้วย 1.ความจริงใจ (S: Sincere) ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีช่องทางได้รับข้อมูลมากมาย และรู้เท่าทันการสื่อสารการตลาดมากขึ้น นักการตลาดจึงควรเลือกใช้สื่ออินฟลูเอนเซอร์ที่มีคาแรคเตอร์เป็นตัวของตัวเอง และเป็นธรรมชาติ 2.ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (E: Expertise) การรีวิวที่ประสบความสำเร็จ จนนำมาสู่การตัดสินใจซื้อสินค้า และบริการ นักการตลาดควรพิจารณาเลือกผู้ที่สามารถให้มากกว่าเพียงความรู้พื้นฐาน แต่ต้องมีความรู้ความถนัดเฉพาะด้านที่ตรงกับธุรกิจ
3. การเข้าถึง (E: Engagement) จำนวนผู้ติดตามมาก ไม่ได้สะท้อนการสื่อสารการตลาดที่มีประสิทธิภาพ นักการตลาดจึงควรศึกษาการเข้าถึงบนช่องทางของอินฟลูเอนเซอร์ โดยควรมีผู้ติดตาม กดถูกใจ (Like) เผยแพร่ต่อ (Share) และแสดงความคิดเห็น (Comment) รวมกันคิดเป็นร้อยละ 5 ของจำนวนผู้ติดตามทั้งหมด และ4. ความแตกต่าง (D: Different) ท่ามกลางกลุ่มผู้มีอิทธิพลบนโลกโซเชียลที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน การสื่อสารการตลาดที่สร้างความแตกต่างให้กับผู้บริโภค นับเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญ จึงควรพิจารณาถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และแตกต่างของสื่อกลางการสื่อสาร ที่ตรงกันกับบุคลิกของแบรนด์ธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาถึงรูปแบบเนื้อหา และช่องทางการสื่อสารของสื่อที่ใช้ ซึ่งจากการวิจัยพบว่า คอนเทนท์รีวิวสินค้าในรูปแบบวิดีโอ มีประสิทธิภาพมากกว่าเพียงรูปภาพ โดยช่องทางโซเชียลที่เข้าถึงผู้บริโภค 3 อันดับแรก ได้แก่ เฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) และยูทูป (YouTube) ทั้งนี้ จากสถิติตัวเลขการใช้จ่ายสื่อการตลาดดิจิทัลย้อนหลัง 5 ปี (ที่มา: สมาคมดิจิทัล ประเทศไทย ปี 2561) พบว่า เม็ดเงินการลงทุนบนออนไลน์แพลตฟอร์มโตกว่า 3.5 เท่า (ราว 10,000 ล้านบาท) และยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2562 นี้
ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.cmmu.mahidol.ac.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/suchseedmarketing