เนคเทคพัฒนาต้นแบบระบบ e-Vote ด้วยบล็อกเชน
ไอที
เนื่องจากบล็อกเชน(Blockchain) เป็นเทคโนโลยีที่ขจัดตัวกลาง มีการเก็บข้อมูลแบบกระจายไว้หลาย ๆ ที่ หรือเรียกว่า Node หากมีแฮกเกอร์จะเข้าไปแก้ไขข้อมูล จะต้องแก้ที่ Node ทุก Node ซึ่งเก็บ ไว้ที่ยูสเซอร์ หรือผู้ใช้งานทั้งหมด หากแก้ที่จุดเดียวจะรู้ทันทีเพราะแตกต่างไปจาก Node ที่เหลือ จึงถือเป็นระบบตรวจสอบไปในตัว ระบบนี้จึงแตกต่างจากการเก็บข้อมูลแบบเดิม ๆ ที่เป็นการเก็บแบบรวมศูนย์ หรือเก็บข้อมูลไว้ที่เซิร์ฟเวอร์กลาง หากถูกแฮกโดยผู้ไม่ประสงค์ดีเข้าไปแก้ไขที่เซิร์ฟเวอร์กลาง ข้อมูลจะถูกเปลี่ยนแปลงทันทีโดยไม่สามารถตรวจสอบได้
ดร.ชาลี กล่าวว่า ด้วยข้อดีของเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งเน้นความโปร่งใส ยากต่อการแอบเข้าไปแก้ไขข้อมูล สามารถไปตอบโจทย์เรื่องข้อกังวลของการเลือกตั้งแบบออนไลน์ได้ ทีมวิจัยจากเนคเทค จึงเห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม ที่จะเริ่มนำบล็อกเชนมาใช้ประยุกต์ใช้กับระบบการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-โหวต (e-Vote) โดยเริ่มพัฒนาขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการทดสอบใช้งานในกลุ่มเล็ก ๆ ภายใน สวทช. เพื่อศึกษาถึงผลดีผลเสีย คาดว่าจะสามารถทดสอบภายในองค์กรได้แล้วเสร็จภายในครึ่งปีแรกนี้ ก่อนจะกระจายการใช้งานไปสู่องค์กรภายนอก ซึ่งเบื้องต้นเพื่อสร้างการยอมรับในระบบที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ จึงจะเน้นที่การสร้างความร่วมมือกับภาคการศึกษาต่าง ๆ ในการร่วมกันพัฒนาเป็นเครือข่าย คอมมูนิตี้ หรือสมาคมฯ ซึ่งมหาวิทยาลัยสามารถที่จะนำไปต่อยอด เป็นต้นแบบทดสอบใช้งานกับการเลือกตั้งภายในเช่น การเลือกตั้งสโมสรนักศึกษาต่าง ๆ ได้
ทั้งนี้บล็อกเชนนอกจากจะป้องกันการโกงจากการเข้าไปแก้ไขข้อมูลแล้ว ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเลือกตั้ง อำนวยความสะดวก และลดค่าใช้จ่ายได้ เช่น การตัดตัวกลางในกระบวนการ อย่างผู้รวบรวมคะแนน โดยคะแนนจะถูกส่งจากผู้ลงคะแนนถึงผู้ลงสมัครที่ถูกเลือกโดยตรง ผู้ลงคะแนนไม่จำเป็นต้องมาที่หน่วยเลือกตั้ง สามารถอยู่ที่จุดใดก็ได้ที่มีอินเทอร์เน็ตเข้าถึง และสามารถประมาณการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งได้อย่างชัดเจน
ส่วนการป้องกันการแอบอ้างตัวตนเป็นบุคคลอื่นบนโลกออนไลน์นั้น ผู้วิจัยบอกว่า เนื่องจากเนคเทคมีผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน สามารถที่จะนำเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วยโดยไม่ต้องกังวลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา อย่างเช่น การนำระบบลงเวลาทำงานด้วยการพิสูจน์ 4 องค์ประกอบบนโทรศัพท์มือถือ ที่ตนและทีมงานทำอยู่มาปรับใช้ในการพิสูจน์ตัวตนกับระบบอีโหวตนี้ได้ โดยสามารถเลือกใช้ หรือปรับแต่งได้ตามความเหมาะสม เพราะมีทั้งพาสเวิร์ด มือถือหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ การสแกนใบหน้า และโลเคชั่นหรือตำแหน่งที่อยู่
อย่างไรก็ดีวิธีการประยุกต์ใช้บล็อกเชนกับการเลือกตั้งนั้น จะมีผู้เกี่ยวข้องหลักในระบบ 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้คุมการเลือกตั้ง ที่มีหน้าที่กำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ กลุ่มผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนน ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะต้องกำหนดบทบาทอย่างชัดเจน
“เรื่องการใช้บล็อกเชนกับการเลือกตั้งนี้ ยอมรับว่ายังเป็นเรื่องที่อ่อนไหวอยู่มาก เพราะบล็อกเชนคือเทคโนโลยีใหม่ การกระจายไปเก็บที่หลาย ๆ คน ตามทฤษฎีแม้จะน่าสนใจ แต่ก็ต้องมีการทดลองก่อน"
ผู้วิจัยย้ำว่า งานวิจัยที่ทำไม่ได้มองในเรื่องของการเมืองเลย เพราะมองว่าการเลือกตั้งก็คือระบบธรรมดาที่บอกว่าจะเลือกใครก็แค่นั้น แต่สิ่งที่ทำคืออยากให้ทุกคนสามารถทำเลือกตั้งได้โดยเสรี เช่น พนักงานอยากจัดเลือกตั้งหัวหน้าห้องปฏิบัติการ ก็สามารถนำแพลตฟอร์มที่จะพัฒนาขึ้นนี้ไปเปิดใช้งานได้เลยเหมือนกับการทำแบบสอบถามของกูเกิล
โดยจะแพลตฟอร์มสำเร็จรูป ที่ง่าย และไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้ใช้ ซึ่งคนที่ใช้งานไม่จำเป็นต้องรับรู้ด้วยซ้ำว่ากำลังใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่ และที่สำคัญจะเป็นแพลตฟอร์มบล็อกเชนของคนไทย ข้อมูลยังอยู่ในประเทศไทย
"อย่างไรก็ดีในอนาคต หากมีความต้องการนำไปใช้งานกับการเลือกตั้งในระดัปบระเทศจริง ๆ มองว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดของการเลือกตั้งผ่านอินเทอร์เน็ตก็คือประชาชนต้องอ่านออกเขียนได้ 100 % ต่อมาก็คือสามารถใช้ไอทีได้ อินเทอร์เน็ตต้องเข้าถึงทุกพื้นที่และราคาถูกพอ ขณะเดียวกับค่าอุปกรณ์เคลื่อนที่ต้องถูก และผู้นำประเทศรวมถึงประชาชนทุกคนต้องยอมรับด้วย ดังนั้นสิ่งที่มีโอกาสเป็นไปได้ คือ การนำใช้สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือการเลือกตั้งในต่างประเทศ ที่สามารถควบคุมจำนวนคนและสถานที่ได้"