สดร.เซ็นเอ็มโอยูจีนพัฒนาดาวเทียมวิจัยฝีมือคนไทย
ไอที
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า สดร. ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง( เอ็มโอยู) กับ ดร. เจีย ปิง ประธานสถาบันทัศนศาสตร์ กลศาสตร์ขั้นสูงและฟิสิกส์แห่งฉางชุน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีสำหรับสร้างดาวเทียม พร้อมหารือการพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สำหรับดาวเทียม และสร้างดาวเทียมวิจัยขนาดเล็กน้ำหนักประมาณ 20-30 กิโลกรัม รวมถึงแผนขยายความร่วมมือในด้านอื่นที่เกี่ยวข้องในอนาคต อาทิ การพัฒนาอุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ ระบบปรับสภาพตามแสง สำหรับกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวแห่งชาติของไทย
ทั้งนี้ สดร. กำลังดำเนิน “โครงการภาคีความร่วมมือพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีอวกาศไทย” (Thai Space Consortium: TSC) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มีเป้าหมายใช้ดาวเทียมเป็นโจทย์ในการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศด้านเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่ง สดร. รับผิดชอบการพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สำหรับดาวเทียม และเป็นผู้ประสานงานหลักของภาคีความร่วมมือดังกล่าว
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศแก่นักวิจัย วิศวกร บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ และนักศึกษาระหว่างสองหน่่วยงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สำหรับดาวเทียมและสร้างดาวเทียมวิจัย การฝึกอบรมด้านเทคนิค การประชุมทางวิชาการ ตลอดจนร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูงที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผลิตอุปกรณ์สำหรับงานวิจัยของกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศร่วมกัน เป็นต้น องค์ความรู้ที่ได้จะนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาดาวเทียมไทยในโครงการภาคีความร่วมมือพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีอวกาศไทยในอนาคต
ทั้งนี้ สถาบันทัศนศาสตร์ กลศาสตร์ขั้นสูงและฟิสิกส์แห่งฉางชุน (Changchun Institute of Optics, Fine Mechanics and Physics : CIOMP) เป็นหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุด ภายใต้สถาบันบัณทิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences : CAS) ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2495 มีพนักงานประมาณ 2,000 คน เป็นนักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอกถึง 90% ภายในสถาบันทัศนศาสตร์ฯ มีห้องปฏิบัติการทั้งหมด 18 ห้อง เพียบพร้อมไปด้วยสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ เทคโนโลยีสุญญากาศ เครื่องมือกลขั้นสูง และระบบควบคุม ปัจจุบัน มีบริษัท Startup ที่เกิดจากสถาบันฯ แห่งนี้ ถึง 84 บริษัท