ดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในปี 2562
ไอที
สำหรับปีนี้... ผู้สนใจปรากฎการณ์บนท้องฟ้า คงอยากจะรู้ว่า จะมีปรากฎการณ์หรือเรื่องเด่นทางดาราศาสตร์อะไรมาให้ติดตามกันบ้าง
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ของประเทศ สรุปเรื่องเด่นทางดาราศาสตร์ที่น่าจับตา...มาให้ติดตาม
...สองเรื่องแรกเป็นปีแห่งการครบรอบเหตุการณ์สำคัญด้านดาราศาสตร์ของโลก
โดยเรื่องแรก “ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา” ผู้อำนวยการสดร. บอกว่า เป็นปีที่ “ครบรอบ 50 ปี ยานอะพอลโล 11นำมนุษย์เหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก” ซึ่ง “จอห์น เอฟ. เคนเนดี” ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้ปราศรัยต่อประชาชนชาวอเมริกัน หาเสียงสนับสนุนโครงการอะพอลโล เพื่อส่งมนุษย์อวกาศชาวอเมริกันไปดวงจันทร์ให้สำเร็จ ด้วยประโยคเด่นที่ว่า “เราเลือกที่จะไปดวงจันทร์ในทศวรรษนี้ และทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่เพราะมันง่ายแต่เพราะมันยาก”
โครงการอะพอลโล ได้รับการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลและประชาชน องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ นาซา (NASA) ได้รับงบประมาณและทรัพยากรมนุษย์มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้โครงการอะพอลโลจะเผชิญกับความผิดพลาดครั้งใหญ่อย่างอุบัติเหตุเพลิงไหม้ในยานอะพอลโล 1 ระหว่างการทดสอบจนต้องสูญเสียนักบินอวกาศถึงสามคน แต่การส่งยานอะพอลโล 8 และ 10 พร้อมมนุษย์อวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ก็เป็นไปอย่างราบรื่น จนกระทั่งยานอะพอลโล 11 พร้อมมนุษย์อวกาศชาวอเมริกัน 2 คนสามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ใน “วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2512” (ตามเวลาประเทศไทย)
และ “นีล อาร์มสตรอง” (Neil Armstrong) คือมนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบลงบนดวงจันทร์ 50ปี ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ดวงจันทร์ก็ยังคงเป็นสถานที่เดียวในอวกาศที่มนุษย์สามารถเดินทางไปถึง และภารกิจนี้ก่อให้เกิดความก้าวหน้ามหาศาลทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ส่วนเรื่องที่สองคือ “ครบรอบ100 ปี สุริยุปราคาเต็มดวงที่พิสูจน์ทฤษฏีสัมพันธภาพทั่วไปของไอน์สไตล์ “ ที่อธิบายถึง “แรงโน้มถ่วง” ในเอกภพว่ามวลของวัตถุทำให้ “กาลอวกาศ (Spacetime)” ในอวกาศโค้งงอ ยิ่งวัตถุมีมวลมาก ยิ่งทำให้กาลอวกาศโค้งงอมาก วัตถุที่อยู่ภายในกาลอวกาศนี้ จะเคลื่อนที่เป็นเส้นโค้งเสมือนว่าดึงดูดซึ่งกันและกัน รวมถึงแสงที่เดินทางผ่านบริเวณดังกล่าวก็จะโค้งงอด้วยเช่นกัน
“เซอร์ อาร์เธอร์ เอ็ดดิงตัน” นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษผู้สนใจทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ จึงออกแบบการทดลองเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าวจากการสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง และใน “วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2462” เอ็ดดิงตันออกเดินทางจากประเทศอังกฤษไปยังชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกาเพื่อสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนมาบังหน้าดวงอาทิตย์จนมืดสนิท ตำแหน่งของดาวฤกษ์ที่ควรอยู่ด้านหลังดวงอาทิตย์ก็ปรากฏขึ้นมาบริเวณขอบของดวงอาทิตย์อย่างที่ไอน์สไตน์ทำนายไว้ การทดลองครั้งนี้จึงเป็นข้อพิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปครั้งแรก ทำให้มุมมองของมนุษย์ต่อเอกภพเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
....สำหรับเรื่องปรากฎการณ์บนท้องฟ้าในปี 2562
ดร.ศรัณย์ บอกว่ามีอุปราคาที่สามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศไทย 2 ครั้ง คือ จันทรุปราคาบางส่วน 17 กรกฎาคม 2562 และ สุริยุปราคาบางส่วน 26 ธันวาคม 2562
โดยจันทรุปราคาบางส่วน: จะเกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดวันที่ 17 กรกฎาคม สังเกตได้ทุกภูมิภาคของประเทศ ตั้งแต่เวลาประมาณ 01:44 - 06:00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ดวงจันทร์จะถูกเงามืดบังมากสุดประมาณร้อยละ 65 ในเวลาประมาณ 04.31 น.
ส่วนสุริยุปราคา ใน 26 ธันวาคม 2562 เป็นปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” แนวคราสวงแหวนพาดผ่านประเทศอินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยจะเห็นเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์ ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง สังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทยในเวลาที่แตกต่างกัน ตั้งแต่เวลาประมาณ 10:18 - 13:57 น. (ตามเวลาประเทศไทย) แต่ละภูมิภาคจะมองเห็นคราสการบังไม่เท่ากัน ดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 81 ส่วนภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย ดวงอาทิตย์จะถูกบังเพียงร้อยละ 40 และกรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์จะถูกบังประมาณร้อยละ 56
นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี โดยดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ ซูเปอร์ ฟูลมูน (Super Full Moon) ใน19 กุมภาพันธ์ และ ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ ไมโครฟูลมูน (Micro Full Moon) ใน 14 กันยายน ปรากฎการณ์ ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก ใน 10 มิถุนายน และดาวเสาร์ใกล้โลก 9 กรกฎาคม 2562
ส่วน ฝนดาวตก มีให้ชมตลอดทั้งปี แต่ที่น่าจับตา คือ ฝนดาวตกควอดรานติดส์(Quadrantids) ในวันที่ 3-4 มกราคมนี้ ซึ่งมีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณระหว่างกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์และกลุ่ม ดาวมังกร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราตกสูงสุดมากถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์ (Eta Aquarids) ในวันที่ 6-7 พฤษภาคม คาดตกเฉลี่ย 50 ดวงต่อชั่วโมง และฝนดาวตกเดลต้า - อควอริดส์ (Delta Aquarids) ใน 30-31 กรกฎาคม คาดตกเฉลี่ย 25 ดวงต่อชั่วโมง
และที่ต้องเฝ้าจับตาข้ามปีก็คือ“ดาวเสาร์เคียงดาวพฤหัสบดี” หรือ The Great Conjunction 2020 ดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีเริ่มขยับเข้าใกล้ตั้งแต่ปลายปี 2561 และจะเข้าใกล้กันที่สุด ในวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ห่างเพียง 0.1 องศา มองบนฟ้าเสมือนเป็นดาวดวงเดียวกัน หากใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 150 เท่า จะเห็นดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน สังเกตได้ในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณระหว่างกลุ่มดาวคนยิงธนูและกลุ่มดาวแพะทะเล ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในทุก 20 ปี แต่ครั้งนี้นับว่าเข้าใกล้ที่สุดในรอบกว่า 397 ปี
....ด้านภารกิจสำคัญของสดร.ในปี2562
ผู้อำนวยการสดร. บอกว่า มีการเดินหน้าปักหมุดสร้าง “หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ” ติดตั้ง “กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเตรียมสร้าง “ดาวเทียมวิจัย” ของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย โดยร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หวังใช้ดาราศาสตร์เป็นโจทย์สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่
ส่วนกลางปีพร้อมเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา” หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบ แห่งที่ 3 ของไทย ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 เพื่อบริการวิชาการดาราศาสตร์ สนับสนุนงานวิจัยดาราศาสตร์สำหรับนักเรียน นักศึกษา และสถาบันการศึกษาในภาคใต้ และเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์มุสลิมอย่างครบวงจร
ดร. ศรัณย์ กล่าวว่า นอกจาก 10 เรื่องดาราศาสตร์ที่น่าติดตาม ปี 2562นี้ ยังเป็นปีแห่งวาระพิเศษที่สดร. ดำเนินงานครบรอบ 10 ปี นับจากก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552
การดำเนินงานที่ผ่านมา เน้นพัฒนาองค์ความรู้ดาราศาสตร์ พัฒนาบุคลากร สร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางดาราศาสตร์ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับเครือข่ายดาราศาสตร์ระดับนานาชาติ เพื่อยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ดาราศาสตร์ สร้างแรงบันดาลใจใฝ่รู้วิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน
และสดร. จะยังคงเดินหน้าใช้เทคโนโลยีดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างคนเก่งมาช่วยขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไป .
นาตยา คชินทร
[email protected]