ข่าวเยาวชนไทยกับการเป็นผู้ประกอบการยุคดิจิทัล - kachon.com

เยาวชนไทยกับการเป็นผู้ประกอบการยุคดิจิทัล
ไอที

photodune-2043745-college-student-s

           ประเด็นดังกล่าวมีเรื่องราวน่าสนใจเมื่อ ทาง ซี กรุ๊ป (Sea Group ) ซึ่งเป็บบริษัทแม่ของ การีน่า (Garena) ผู้ให้บริการเกมออนไลน์ แอร์เพย์ (AirPay) ผู้ให้บริการชำระเงิน และ ช้อปปี้ (Shopee) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ได้ร่วมกับสภาเศรษฐกิจโลก ( World Economic Forum : WEF) ในการทำวิจัย “อนาคตของเยาวชนกับความเป็นผู้ประกอบการ” โดยสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนในอาเซียนว่ามีมุมมองอย่างไรต่อโอกาสการเข้าทำงานในยุคแห่งการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

          ดร.สันติธาร เสถียรไทย  Group Chief Economist ของ Sea Group กล่าวว่า จุดประสงค์ของการทำวิจัยเรื่องนี้ เนื่องจากบริษัทได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมากและบริษัทเองถือว่าค่อนข้างเด็กพนักงานอายุเฉลี่ยประมาณ 27-28 ปี จึงให้ความสนใจที่จะช่วยเหลือสนับสนุนคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร ซึ่งตรงกับสภาเศรษฐกิจโลก ที่ให้ความสนใจเรื่องอนาคตของเด็กรุ่นใหม่ ที่เติบโตมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ จึงได้ร่วมมือทำวิจัยขึ้น

          ซึ่งได้ขอความร่วมมือกับเยาวชนในอาเซียนที่ใช้บริการธุรกิจของ การีน่า และ ช้อปปี้ ที่อายุต่ำกว่า 36 ปี ได้ทำแบบสอบถาม ซึ่งมีผู้เข้ามาทำแบบสอบถามกว่า 64,000 ราย ในจำนวนนี้ทำแบบสอบถามเสร็จสมบูรณ์ 42,000 คน จึงถือว่าเป็นข้อมูลวิจัยที่ดีและน่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเยาวชนไทยร่วมทำแบบสอบถามถึง 10,000 คน จึงมีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในเชิงลึกเจาะเฉพาะประเทศไทย เพื่อให้เข้าใจว่าความท้าทายและโอกาสในเศรษฐกิจดิจิทัลมีอะไรบ้าง และจะร่วมกันพัฒนาอีโคซิสเต็ม หรือระบบนิเวศน์ ร่วมกับรัฐบาลได้อย่างไร



       เยาวชนไทยมีจิตวิญญาณผู้ประกอบการสูง
        ผลการวิจัยพบว่าในอาเซียนมีเยาวชนสนใจเป็นผู้ประกอบการถึง 1 ใน 4 แต่เยาวชนไทยมีจิตวิญญาณการเป็นผู้ประกอบการถึง 36 % ถือว่าสูงสุดในอาเซียน

         ปัจจัยที่ทำให้เยาวชนไทยอยากเป็นผู้ประกอบการมากที่สุดในอาเซียน คือ คนไทยอยากเป็นนายของตัวเอง และมีกระแสเรื่องสตาร์ทอัพในช่วงที่ผ่านมา จึงอยากเข้ามาลองทำ เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจเอง ที่สำคัญคือปัจจุบันมีแพลต์ฟอร์มที่ช่วยให้ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น

          อย่างเช่น ธุรกิจอี คอมเมิร์ซ ที่ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องจ้างพนักงาน ก็สามารถเริ่มธุรกิจได้แล้ว โดยอาจทำธุรกิจออนไลน์ของตัวเองเป็นส่วนเสริมระหว่างเรียน หรือ งานประจำ ซึ่งบางคนทำธุรกิจออนไลน์ จนประสบความสำเร็จ กลายเป็นงานหลัก รวมถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ก็มีการจัดอบรมเวิร์ช้อปให้อย่างเช่น ช้อปปี้ที่มีการจับมือ สถานบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจัดอบรมให้กับผู้ที่สนใจ

          ขณะเดียวกันยุคนี้เป็นยุคปฎิวัติสมาร์ทโฟน ที่ช่วยให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลชนบท จึงสร้างผู้ซื้อและผู้ขายรายใหม่ๆ ส่วนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล อย่างเช่น โครงการเน็ตประชารัฐ ที่ไปถึงหมู่บ้าน ก็จะช่วยให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนในพื้นที่ห่างไกลมีจำนวนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในเรื่อง ความรู้ความเข้าใจและนำมาใช้ยังน้อยอยู่ การอบรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือทำเรื่องนี้ด้วยกันจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด



         แนวทางทำธุรกิจออนไลน์เปลี่ยนไป
          การทำออนไลน์ ในอดีตจะต้องทำเว็บไซต์ขึ้นมา แต่ปัจจุบันความคิดนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว อย่างเช่นที่ สิงคโปร์ บริษัทใหญ่ๆ หรือ ผู้ประกอบการต่างๆ ก็ยอมรับว่าการจะเริ่มต้นเซ็ทอัพเว็บไซต์ เริ่มต้นหาลูกค้า เป็นเรื่องยากขึ้น การประสบความสำเร็จบนโลกออนไลน์ กับออฟไลน์ไม่เหมือนกัน เป็นคนละรูปแบบ ซึ่งแทนที่จะเริ่มต้นเองก็หันมาจับมือกับแพลตฟอร์ม หรือผู้ประกอบการที่มีความสำเร็จอยู่แล้ว โดยการเป็นพาร์ทเนอร์กัน ในเมืองไทยหลายๆองค์กรธุรกิจก็เริ่มใช้วีธีแบบนี้ เช่น ธุรกิจค้าปลีกต่างๆ แล้วมีการแชร์ดาต้าหรือข้อมูลระหว่างกันทำอย่างไรให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ หรือใช้บริการอีก ฯลฯ

          อย่างก็ตามผลวิจัยอีกประเด็นที่น่าสนใจเมื่อแบ่งเป็นระดับการศึกษาพบว่าผู้มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีถึง 42% ที่อยากมีกิจการของตนเอง ขณะที่กลุ่มคนที่มีการศึกษาระดับปริญาตรีและสูงกว่า มีจำนวน 25% ที่ต้องการมีกิจการเป็นของตนเอง

          สิ่งนี้ ดร.สันติธาร บอกว่า อาจจะเป็นเรื่องของโอกาส ซึ่งคนกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี คิดว่าการจะเข้าทำงานในบริษัทต่างชาติ และได้ตำแหน่งที่ถูกใจอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อประตูไม่เปิดให้ จึงมีความคิดมาทำธุรกิจเองดีกว่า

         เทคโนโลยีกับตลาดแรงงานมีบวกและลบ
          ในการศึกษาครั้งนี้ มีการถามถึงเรื่องเทคโนโลยีจะช่วยให้ตลาดแรงงานมีการจ้างงานมากขึ้นหรือน้อยลง และมองว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยบวกหรือลบ ซึ่งผลวิจัยพบว่า ผู้ประกอบการมองว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ดี ช่วยเพิ่มโอกาส แต่ในด้านแรงงานจะมองเป็นลบ กลัวว่าเทคโนโลยีจะมาแย่งงาน อย่างเช่น พนักงานขายในห้างฯ ที่คนหันมาซื้อออนไลน์มากขึ้น พนักงานธนาคาร ที่คนหันมาใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น หรือแม้แต่ในวงการแพทย์ ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงและมาแทนคนได้ ทำให้มีคำถามว่า คนเหล่านี้มีความพร้อมหรือยังในการเพิ่มทักษะหรือเปลี่ยนทักษะในการทำอะไรใหม่ๆ

          “การที่เราทำอะไรมานานๆ มีทักษะสะสม มีความเชี่ยวชาญ มีเพื่อนฝูงในวงการ การปรับเปลี่ยนออกจากคอมฟอร์ตโซนของตนเองเป็นเรื่องยาก แต่คิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น ในสิงคโปร์ภาครัฐมีนโยบายมา 3-4 ปีแล้วที่ให้คนที่อาจจะถูกดิจิทัล ดิสทรับชั่น แล้วอยากจะเปลี่ยนแนวทางชีวิต หรือหางานใหม่ สามารถไปเรียนออนไลน์ คอร์ส ระยะยาวได้ โดยจะมีการชดเชยค่าใช้จ่ายการเรียนจากรัฐบาล ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีการชดเชยมาก ซึ่งช่วยได้ในส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องจิตใจ เพราะหลายคนยังกลัวอยู่ที่จะออกมาจากคอมฟอร์ตโซน จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่และยาก” ดร.สันติธาร ระบุ
ภาคการศึกษาต้องเร่งผลิตแรงงานดิจิทัล

           ในส่วนของการศึกษาไทยในเรื่องพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลนั้น ดร.สันติธาร มองว่า ต้องมีการเตรียมพร้อม 2 แบบ คือ ต้องเตรียมคน ให้มีความพร้อมในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีปัญาประดิษญ์ หรือ เอไอ สามารถดึงความสามารถของเทคโนโลยีออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งคนที่เรียนทางด้าน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หรือ วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientists) ก็จะมีความเข้าใจเรื่องพวกนี้ อย่างไรก็ตามหลายคนที่เรียนด้านนี้ บอกว่าความสำคัญไม่ใช่เรื่องโค้ดดิ้ง(coding) เพราะภาษาโค้ดเดี๋ยวก็เปลี่ยน แต่ควรเข้าใจ logic หรือตรรกะวีธิคิด



            ส่วนอีกแบบหนึ่งซึ่งถือว่าสำคัญ คือ เรื่องทักษะพฤติกรรม การทำงานร่วมกับคนอื่น การทำงานเป็นทีมเวิร์ก ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ซึ่งเรื่องนี้พวกหุ่นยนต์ทำตามได้ยาก การศึกษาไทยต้องเพิ่มการบ่มเพาะในเรื่องนี้ นอกจากนี้ควรจะส่งเสริมให้นักศึกษาได้ทดลองทำธุรกิจ เรียนรู้การล้มลุกคุกคลานด้วยตนเอง แล้วมีระบบที่รองรับ

           อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน แรงงานด้านดิจิทัล ในไทยถือว่ายังขาดแคนอยู่มาก ซึ่งก็เป็นในหลายประเทศ ทั้งในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ก็ประสบปัญหา มีเพียงจีนและอินเดียที่ผลิตแรงงานเหล่านี้ได้มาก จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเร่งผลิตแรงงานด้านนี้ออกมาให้มาก แต่ต้องดูใน 3 มิติ คือ 1. สร้างแรงงานด้านนี้เก่งๆ ขึ้นมา 2. ดึงดูดคนเก่งเข้ามาเพื่อช่วยสร้างคนเก่งขึ้นมาในประเทศ ซึ่งสิงคโปร์ก็ใช้สูตรนี้ ไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าทำยังไงให้ดึงคนต่างชาติเก่งๆเข้ามาได้ และ 3. สนับสนุนคนไทยที่เก่งๆ ให้มีไฟในการทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องทำงานเฉพาะแต่ในเมืองไทย โลกยุค 4.0 อยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานเพื่อประเทศไทยได้

          สตาร์ทอัพไทยต้องกล้าบุกต่างประเทศ
          ในเรื่องสตาร์ทอัพสำหรับเยาวชนที่จบมาใหม่ๆ ต้องมีความชัดเจนว่าตนเองต้องการทำอาชีพอะไร ชอบอะไร แต่หากอยากทำเพราะเป็นกระแส อยากดังก็จะไปไม่ได้ไกล หรืออยากเข้ามากำไรรวยเร็ว ก็ไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุด จึงอยู่ที่วัตถุประสงค์ที่อยากทำ ไม่ว่าจะคิดโมเดลธุรกิจอย่างไร ต่อไปก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมหาศาล  ยกตัวอย่างเช่น การีน่า เกิดมาเมื่อ 9 ปี ที่แล้วเคยเป็นสตาร์ทอัพเพื่อให้บริการและพัฒนาเกม ต่อมาขยายไปยังธุรกิจชำระเงิน และอี คอมเมิร์ซ จนเกิดเป็น ซี กรุ๊ปขึ้นมา มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

           อย่างไก็ตาม แม้ว่า ประเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ต่างก็มีสตาร์อัพระดับยูนิคอร์น ที่ธุรกิจที่มีค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปแล้วนั้น ในมุมมองของ ดร.สันติธาร นั้น สตาร์อัพของไทยก็สามารถไปถึงจุดนั้นได้ คนไทยมีความเก่งอยู่แล้ว ขาดแต่ระบบนิเวศน์ อย่างเช่น อินโดนีเซีย มีประชากรจำนวนมาก แค่คิดขายเฉพาะคนในประเทศก็สามารถเป็นยูนิคอร์นได้แล้ว ในทางกลับกัน สิงคโปร์ เป็นประเทศเล็ก ๆ ประชาชกรน้อย เขาจึงคิดไประดับโลกตั้งแต่วันแรก ดึงดูดคนเก่งระดับโลกมาอยู่ที่นี่ สร้างระบบนิเวศน์ระดับโลก จึงมียูนิคอร์นที่เกิดจากจากประเทศอื่น แต่เปลี่ยนสัญชาติย้ายไปอยู่สิงคโปร์จำนวนมาก

         “ประเทศไทยตลาดไม่ได้เล็ก แต่การขายแค่ 60-70 ล้านคน อาจจะไม่ใหญ่พอที่จะไปถึงระดับยูนิคอร์นได้ ซึ่งเคยคุยกับนักลงทุน มองว่าคนไทยเก่ง แต่ไม่ค่อยคิดอยากออกนอกประเทศ ซึ่งหากขยายไปต่างประเทศ เช่นในประเทศเพื่อนบ้านให้สเกลใหญ่ขึ้น ก็จะดึงดูดนักลงทุนได้อีกมาก สตาร์ทอัพไทยจึงต้องคิดไปต่างประเทศตั้งแต่วันแรกที่จะเริ่มคิดทำธุรกิจเลย ไม่ใช่รอครองตลาดในไทยก่อนแล้วค่อยไป” ดร.สันติธาร

          อย่างไรก็ตามยโยบายของรัฐบาล ที่จะสนับสนุนโคร้างสร้างพื้นฐาน เรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต พัฒนาระบบชำระเงิน หรืออีเพย์เม้นท์ ก็เป็นเรื่องดี แต่อุปสรรคอย่างหนึ่งคือ เรื่องของกฎหมาย ที่เก่าแก่ มีข้อห้ามต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลก็กำลังพยายามแก้ แต่ต้องใช้เวลาในสังคยานาใหม่ นอกจากนี้ยังต้องเปลี่ยนวิธีคิดของผู้กำกับด้านนโยบายัฐ และสุดท้ายคือเรื่องพัฒนาทักษะดิจิทัลของคน



            สนับสนุนสร้างทักษะด้านดิจิทัลให้คนไทย
           ในส่วน ของ ซี กรุ๊ป ถือเป็น 1 ใน 7 บริษัทเทคโนโลยีที่มีพันธสัญญาร่วมกับสภาเศรษฐกิจโลก ในการสร้างทักษะด้านดิจิทัลให้กับคนในอาเซียนในอีก 2 ปี ข้างหน้านั้น ในเมืองไทย ซี กรุ๊ป ก็มีโดยมีเป้าหมายตั้งแต่ช่วยเอสเอ็มอีของไทยให้ค้าขายสินค้าได้มากขึ้น สร้างให้คนรู้จักเทคโนโลยีมากขึ้น แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านเทคโนโลยีต่างๆ กับภาครัฐผู้คุมนโยบาย รวมถึงร่วมมือกับ 4 มหาวิทยาลัย ในการสนับสนุนทำหลักสูตรเกี่ยวกับกีฬาอีสปอร์ต ฯลฯ

            สุดท้าย ดร.สันติธาร ได้แนะนำเยาชนไทยว่า การเรียนรู้ในยุคใหม่ ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่เคล็ดลับในการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันไม่ใช่การเรียนรู้ที่มีคำตอบ เพราะคำคอบหาได้ง่ายมาก แต่โลกเราขาดคำถามที่เกิดจากความสงสัยอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้หาง่ายๆ ต้องอยู่กับกลุ่มเพื่อน กลุ่มคน อ่านหนังสือ หรือแม้แต่การเดินทางท่องเที่ยว ที่จะช่วยทำให้เกิดคำถามจากความสงสัย และต้องพยายามรักษาความสงสัย ความขวนขวายอยากเรียนรู้ไว้ตลอด เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญมากมาก

           เพราะถ้าเราหมดความอยากรู้อยากเห็นเมื่อไร เราจะหยุดการเรียนรู้ และเมื่อเราหยุดการเรียนรู้ ต่อให้เราเก่งมากแค่ไหน ยุคนี้แค่เวลาผ่านไปปีสองปี เราอาจตกยุคได้ เพราะเทคโนโลยีมาเร็วไปเร็ว.




จิราวัฒน์ จารุพันธ์
[email protected]